นางกวัก

นางกวัก

เทพีผู้กวักความรวยให้เข้ามาหา

ตำนานความเป็นมา

          นางกวัก เป็นเทพสตรีผู้มีมหานิยมสูง นับถือว่าเป็นเครื่องรางทางมหาเศรษฐีที่คนไทยรู้จักและนิยมใช้กันมากที่สุดก็ว่าได้ พวกพ่อค้าแม่ขายมักมีติดตัวกันทุกคน พวกที่เปิดร้านค้าก็มักจะมีไว้บูชาบนหิ้ง โดยหันหน้าออกไปหน้าร้าน หากลองสังเกตุอย่างจริงจังจะพบเห็นนางกวักอยู่ประจำแทบทุกร้านไป แม้กระทั่งร้านค้าในย่านสยามสแควร์ และตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังของเมืองไทย ร้อยทั้งร้อยมักอัญเชิญนางกวักบูชาแทบทั้งสิ้น

         นางกวักเป็นเครื่องรางที่มีมาแต่โบราณ พบอยู่ตามกรุต่างๆหรือตามหลุมเสาเอกของบ้านโบราณในสมัยสุโขทัย อยุธยา ล้านนา และเมืองนครศรีธรรมราช วัสดุที่สร้างมักหล่อด้วยสัมฤทธิ์ หรือดินเผามาในยุคหลังจึงแกะจากงาช้างหรือไม้มงคลต่างๆเช่น ไม้ตะเคียน ไม้มะยม ไม้ทองหลาง ฯลฯ

         จุดประสงค์ในการบูชา ก็เพื่อให้นางกวักดลบันดลให้การค้าขายเป็นไปด้วยดี ที่เรียกว่าทำมาค้าขึ้น มีคนมาอุอหนุนกันอย่างเนืองแน่น โดยอำนาจแห่งนางกวักนั้นสามารถดลจิตดลใจให้ผู้อื่นมาจ่ายเงินซื้อของในร้าน ช่วยกวักเรียกลูกค้าให้เข้ามาในร้านค้า หรือในกิจการต่างๆได้อย่างหน้าพิศวง บุคคลที่ไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาในตอนแรก ก็อาจจะถูกดลจิตดลใจให้เข้ามาซื้อได้

         ตำนานนางกวักมีเค้าโครงสืบเนื่องมาจากเรื่องรามเกียรติ์กล่าวคือ ท้าวอุณาราช ยักษ์ผู้เป็นเจาเมืองสิงข ถูกพระราม (ขณะกำลังตามนางสีดา) ใช้ต้นกกแผลงเป็นศรไปถูกตรงหน้าอก ตนทั้งหลายเลยพากันเรียกท้าวอุณาราชอีกชื่อหนึ่งว่า ท้าวกกขนาก พระรามได้สาปให้ท้าวกกขนากถูกตรึงด้วยลูกศรอยู่ ณ ที่เขาวงพระจันทร์ จนกว่าจะถึงยุคของพระศรีอาริย์มาโปรดจึงหลุดพ้น

          กล่าวถึงนางประจันทร์ ธิดาของท้าวอุณาราช พอทราบข่าวก็มาอยู่ปฎิบัติดูแลพระบิดาด้วยความกตัญญู และทอจีวรด้วยใยบัวไว้รอถวานเป็นพระอาริย์มาโปรดจึงหลุดพ้นคำสาป ด้วยเหตุนี้ ประชาชนต่างพากันเกรงกลัวว่าท้าวกกขนากจะหลุดพ้นจากพระแสงศร ออกมาอาละวาดฆ่าฟันมวลมนุษย์ด้วยความอาฆาตแค้น จึงพากันเกลียดชังนางประจันทร์ไปด้วย

          จะกล่าวถึงปู่เจ้าเขาเขียว ซึงเป็นสหายร่วมเป็นร่วมตายกับท้าวอุณาราช ปู่เจ้าเขาเขียว ซึ่งเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกดำรงดำแหน่งเป็นพระนัสบดี เป็นเจ้าป่า ราชาแห่งขุนเขาและแมกไม้ไพรสณฑ์ แม้บรรดาจำพวกสัตว์ทวิบาท จตุบาท ตลอดจนมวลมัจฉา ล้วนอยู่ในความคุ้มครองดูแลเจ้าของป่าทั้งสิ้น โดยเฉพาะช้างหรือโขลงช้าง ปู่เจ้าเขาเขียวเมตตารักใคร่เป็นพิเศษ เพราะเป็นสัตว์ใหญ่แสนรู้ จึงรักเหมือนลูก ก่อเกิดเป็นประเพณีนิยมอย่างหนึ่งของชาวป่า ถ้าหากมีการบนบานศาลกล่าว ต้องใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ลูกช้าง

        ปู่เจ้าเขาเขียวได้ส่ง "นางกวัก" ลูกสาวคนเดียวมาอยู่เป็นเพื่อนกับนางประจันทร์ด้วยบุญบารมีที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนของนางกวัก ทำให้นางเป็นผู้มีลาภสักการะอยู่เสมอ อยู่ที่ใดก็มีแต่ผู้รักใคร่เอ็นดู เข้าทำนอง "ใครเห็นใครรัก ใครเห็นใครหลง" นำเงินทองข้าวของมาให้ นอกจากนี้ปู่เจ้าเขาเขียวยังฝากนางกวักไว้กับเทพเทวาทั้งหลายอีกด้วย จึงทำให้มีชาวสวรรค์และมยุษย์รักใคร่เอ็นดูนางกวักมาก

        นับตั้งแต่นางกวักได้เข้ามาอยู่เป็นเพื่อนนางแล้ว ปรากฏว่าผู้คนที่เคยเกลียดชังนางประจันทร์มาก่อน ก็พากันกลับมารักใคร่นางอย่างเหลือเชื่อ แม้ถนนหนทางไปสู่บ้านของนางจะทุรกันดารอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ ต่างพากันนำเอาลาภสักการะและแก้วแหวนเงินทองไปยังบ้านของนางเป็นอันมาก

อ่าน 932 ครั้ง